ความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวภูเก็ตนั้นมีมาช้านาน พบได้จากวัดในจังหวัดภูเก็ตที่มีตั้งอยู่ในทุกพื้นที่ โดยวัดแต่ละที่ก็มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่มีวัด 3 แห่งที่ ถูกเรียกขานว่า วัดเหนือ, วัดกลาง, วัดใต้ เชื่อว่าใครหลายคนคงสังสัยว่าเหตุใดถึงต้องเรียกชื่อเช่นนั้น และทั้ง 3 แห่งมีความเกี่ยวข้องกันเช่นไร
สำนักงานพุทธศานาจังหวัดภูเก็ต เล่าว่า ชื่อวัด เหนือ, กลาง, ใต้ เป็นคำเรียกติดปากของชาวบ้านตั้งแต่ในอดีต สาเหตุที่ตั้งชื่อวัดเช่นนั้นก็เพราะว่าในสมัยอดีตจำนวนของวัดในภูเก็ตไม่มากเท่าในปัจจุบัน และวัด 3 แห่งนี้ก็เป็นวัดที่มีมาช้านานและใช้ประกอบกิจด้านศาสนาที่สำคัญ ประชาชนจึงเรียกชื่อวัดตามทิศทางสถานที่ตั้ง และติดปากกันมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะมีชื่อวัดอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม
วัดขจรรังสรรค์ (วัดเหนือ)
ตั้งอยู่เลขที่ 26 บ้านตลาดเหนือ หมู่ที่ 1 ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดขจรรังสรรค์ สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2543 ไม่ทราบประวัติความเป็นมา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.2425 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 20 เมตร ยาว 30 เมตร ในด้านการศึกษาให้ทางราชการสร้างโรงเรียนเทศบาลวัดขจรรังสรรค์
วัดมงคลนิมิตร (วัดกลาง)
เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ 3 ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต วัดมงคลนิมิตรเดิมชื่อ วัดกลาง เพราะเป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2423 สมัยมณฑลภูเก็ต สันนิษฐานว่าเจ้าเมืองเป็นผู้สร้าง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. 2428 ต่อมาทางราชการได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดมงคลนิมิตร ได้รับพระราชทานยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง ในปี พ.ศ. 2496 แต่ชาวบ้านยังคงเรียกว่า วัดกลาง จนทุกวันนี้
วัดลัฏฐิวนาราม (วัดใต้)
ตั้งอยู่เลขที่ 53 บ้านโคกโตนด ถนนเจ้าฟ้า หมู่ที่ 8 ตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต สังกัดคณะสงฆ์มหา นิกาย นับเป็นวัดโบราณสถานสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2301 ต่อมาได้โยกย้ายเสนาสนะไปสร้างวัดใหม่ขึ้นมาชื่อ “วัดไชยธาราราม” หรือ “วัดฉลอง” ทำให้ที่วัดเดิมต้องกลายสภาพเป็นวัดร้างชั่วระยะเวลาหนึ่ง ชาวบ้านเรียกบริเวณนั้นว่า “โคกวัด” ครั้นถึงปี พ.ศ.2446 มีพระธุดงค์มาปักกลด ชาวบ้านเลื่อมใสจึงได้สร้างเสนาสนะถวาย และได้บูรณะพัฒนาขึ้นเป็นหลักฐานมั่นคงตามลำดับ