ก่อนจะเป็น อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร

อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร เป็นเสมือนหนึ่งเครื่องเตือนใจให้ อนุชนระลึกถึงคุณความดีของ สองวีรสตรีผู้กล้าหาญต่อกรกับข้าศึกศัตรู ยอมพลีเลือดเนื้อเพื่อปกปักแผ่นดินถลาง แต่ทราบหรือไม่ว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้ได้สร้างขึ้นในสมัยใด และใครเป็นผู้ดำริให้สร้างขึ้น เหตุนี้เราจึงนำข้อมูลทางประวัติศาสตร์มานำเสนอให้ทุกท่านทราบว่า เหตุใดอนุสาวรีย์แห่งนี้จึงได้ตั้งตระหง่านให้ผู้คนมาเคารพสักการะเฉกเช่นในปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อ… พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่6) เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเปิดถนนที่ได้พระราชทานนามว่า ถนนเทพกระษัตรี เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2452 เมื่อเสด็จถึงบริเวณค่ายเมืองถลางบ้านเคียน พระองค์ทรงพระราชดำริว่า “ก็ต้องนึกชมว่าท้าวเทพกระษัตรีนี้เป็นผู้หญิงเก่งคนหนึ่ง ผู้หญิงที่จะได้มีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในตำนานของชาติเรามีน้อยนัก  เพราะฉะนั้นเป็นการสมควรแล้วที่จะมีอนุสาวรีย์ไว้ให้คนระลึกถึงและจำได้ ต่อไปชั่วกาลนาน การที่พระราชทานนามถนนสายถลางนั้นตามท้าวเทพกระษัตรีจึงเป็นการควรอย่างยิ่ง”

นายอ้วน สุระกุล เมื่อครั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต  เมื่อ พ.ศ.2505 ได้นำสำเนาจดหมายเหตุเมืองถลางกลับมาเผยแพร่ 6 ฉบับ เป็น จดหมายของท้าวเทพกระษัตรี 3 ฉบับ จดหมายดังกล่าวเป็นหลักฐานสำคัญเสริมและสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงดำเนินการสร้างอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ในปี พ.ศ.2509 ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทรขนาดเท่าคนครึ่ง นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแขนยาว รัดผ้าสไบตะแบงมาน ทรงผมดอกกระทุ่ม ต่างหูรูปดอกไม้ มือขวาถือดาบปลายมน มือซ้ายของท้าวเทพกระษัตรียื่นจับข้อมือขวาท้าวศรีสุนทร ท่านท้าวทั้งสองยืนบนแท่นสูง 5 เมตร ประดิษฐานอยู่ที่บ้านท่าเรือ ตำบลศรีสุนทร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯเปิด อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2510 นับเป็นพระมหากรุณาอนันตคุณแก่ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร อย่างหาที่สุดมิได้ อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร จึงเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องเตือนใจให้อนุชนระลึกถึงคุณความดีของบรรพชน จังหวัดภูเก็ตจึงจัดงานท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ในวันถลางชนะศึก ที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เพื่อวางพวงมาลาและสดุดีวีรชนเมืองถลาง


View ที่กินที่เที่ยว จังหวัดภูเก็ต in a larger map

Related Post

One Comment

ร่วมแสดงความคิดเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.