อะริกะโต …..ขอบคุณ…….แท้งกิ้ว …… เป็นเสียงที่ดังขึ้นในหมู่บ้านไม้ขาว ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 22-29 สิงหาคม 2552 ระหว่างคนสามกลุ่ม กลุ่มหนึ่ง อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอิบารากิ ประเทศญี่ปุ่น กลุ่มที่สอง อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และกลุ่มที่สาม ผู้นำและชาวบ้านหมู่ที่ 4 บ้านไม้ขาว ทั้งสามกลุ่มร่วมทำกิจกรรมในโครงการ “วิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาชุมชนอันดามันที่ยั่งยืน”
รศ.สมชาย สกุลทัพ เล่าถึงที่มาของโครงการ ว่า “หลังจากเกิดเหตุการณ์มหันตภัยสึนามิเมื่อ 26 ธันวาคม 2547 ศาสตราจารย์อิโตจากมหาวิทยาลัยอิบารากิได้มาเยี่ยมชุมชนชายฝั่งอันดามัน ได้พบเห็นผู้คนสูญเสียบุคคลที่รักในครอบครัว และทรัพย์สิน เห็นผู้คนร้องไห้ฟูมฟาย เป็นที่น่าเวทนา
อีกหนึ่งปีต่อมา ศาสตราจารย์อิโตได้มาเยี่ยมชุมชนอีกรอบ ได้พบคนที่รู้จักคราวแรก แปลกใจมากที่ทุกคนทั้งยิ้มและหัวเราะ ไม่มีริ้วรอยของความสูญเสียจากเหตุการณ์สึนามิ ช่างแตกต่างจากคนญี่ปุ่น ซึ่งหากประสบภัยแบบนี้จะฟื้นฟูจิตใจได้ยาก”
ศาสตราจารย์อิโตซึ่งสอนวิชาจิตวิทยาสังคมกล่าวว่า “ คนญี่ปุ่นมีสถิติฆ่าตัวตายสูงขึ้นโดยเฉพาะวัยรุ่น จึงต้องการนำนักศึกษามาเรียนรู้ชีวิตคนไทย จึงมาพบ รศ.สมชาย สกุลทัพ ซึ่งเป็นหัวหน้าสาขาวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เพื่อแสดงความจำนงจะทำกิจกรรมในชุมชนร่วมกัน เพื่อเรียนรู้คนไทยและเพื่อพัฒนาชุมชนไปด้วย”
ด้วยที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตได้มีโครงการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในตำบลนี้มาตลอดได้รู้จักชุมชนมานานจึงได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกันขึ้น และตกลงจัดโครงการนี้ขึ้นเป็นอันดับแรก วัตถุประสงค์ของค่ายนี้ คือ เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักศึกษาทั้งสองมหาวิทยาลัย และกับชุมชน เพื่อการร่วมกันพัฒนาชุมชนบ้านไม้ขาวทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมแบบบูรณาการ เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางด้านวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยให้กว้างขวางขึ้น
ค่ายนี้เป็นสามเส้าของความร่วมมือ ที่ประกอบด้วยคณะอาจารย์ จากมหาวิทยาลัยอิบารากิ จำนวน 4 คน และนักศึกษาระดับปริญญาโทสาขาต่างๆ ที่เรียนวิชาวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำนวน 12 คน ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาสัญชาติญี่ปุ่น 8 คน สัญชาติจีน 4 คน ส่วน ม.ราชภัฏภูเก็ต สาขาสิ่งแวดล้อมศึกษา ระดับปริญญาโท มีกรรมการสาขา 5 คน นักศึกษาจำนวน 13 คน และตัวแทนชุมชน จำนวน 30 คน
กิจกรรมของค่ายนี้มีกำหนดเจ็ดวัน เริ่มต้นด้วยอาจารย์และนักศึกษาทั้งสองมหาวิทยาลัยพบปะแนะนำตัวกัน จัดประชุมแบ่งกลุ่มงานที่จะศึกษาและร่วมพัฒนาในหมู่บ้านเป็นสี่กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์เต่าทะเล กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายหาดและป่าพรุ กลุ่มจัดการขยะ และกลุ่มพัฒนาการทำนา กิจกรรมต่อมา ประชุมกลุ่มที่จะพักแบบโฮมสเตย์ในหมู่บ้าน แต่ละบ้านจะมีนักศึกษาไทยสองคน และนักศึกษาญี่ปุ่นสองคน กิจกรรมต่อมาคือ พบชุมชน ที่มีผู้ใหญ่บ้านและชุมชนรอรับ ที่ยึดอาคารโรงสีข้าวเป็นศูนย์ของค่ายนี้ เมื่อผู้ใหญ่แนะนำสมาชิกชุมชนเสร็จ เจ้าของบ้านเจ็ดหลังนำนักศึกษาเข้าที่พักที่กระจายอยู่ในหมู่บ้าน
หลังจากมารวมกลุ่มกันรับประทานอาหารเย็นที่มีชมรมแม่บ้านเป็นผู้ดูแลเสร็จสิ้นลง แล้วกิจกรรมร่วมคิดแบบสามเส้าเริ่มขึ้น แต่ละกลุ่มมีนักศึกษาทั้งไทยและญี่ปุ่นรวมทั้งสมาชิกชุมชน ร่วมทำแผนผังทางความคิด ถกเรื่องปัญหาของสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่แต่ละกลุ่มรับผิดชอบ หาสาเหตุ สำรวจพื้นที่ในชุมชน หาแนวทางแก้ไข ที่เป็นแนวทางพัฒนา ลงท้ายด้วยการทำโปสเตอร์เพื่อจัดทำเป็นสื่อสำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนบ้านไม้ขาว โดยพัฒนาอาคารโรงสีข้าวเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชน สี่วันสามคืนในชุมชน งานที่วางแผนไว้สำเร็จลงด้วยดี จากนั้นนักศึกษาทั้งสองชาติได้ทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ต่างสอนการทำอาหารของแต่ละประเทศ ญี่ปุ่นสอนพับกระดาษ ม.ราชภัฏภูเก็ตสอนรำไทย ให้กับอาจารย์และนักศึกษาญี่ปุ่น วันสุดท้าย นักศึกษานำแผ่นโปสเตอร์จำนวนสิบเอ็ดแผ่นไปถ่ายทอดแนวทางพัฒนาแก่ชุมชน พร้อมมอบให้ชุมชนเพื่อเผยแพร่แนวทางพัฒนาชุมชน แล้วนักศึกษาและอาจารย์ทั้งสองชาติได้ขอบคุณและลาชุมชน ด้วยการร้องไห้และน้ำตาของชุมชนและนักศึกษาทั้งสองชาติ
โตโม นักศึกษาญี่ปุ่นที่เรียนวิชาสาธารณสุขในโรงเรียน กล่าวถึงการมาร่วมค่ายนี้ว่า “อยากมาภูเก็ตมาก เลือกทำกิจกรรมกลุ่มการทำนาเพราะเคยดำนาที่ญี่ปุ่น ชอบคนไทย อาหารไทยมาก สัญญาว่าเมื่อเรียนจบปริญญาโทจะกลับมาภูเก็ต”
ส่วน จิง นักศึกษาสัญชาติจีน ที่เรียนวิชาการจัดการชายฝั่งทะเลกล่าวว่า “ อยากมาเรียนรู้ชายฝั่งที่ภูเก็ต คนไทยนิสัยดีมาก ชอบอาหารไทยเผ็ดอร่อย เจ้าของบ้านใจดีทุกคน อยากมาเรียนปริญญาเอกที่ ราชภัฏภูเก็ต จบแล้วอยากทำงานที่ภูเก็ต”
ผศ.ดร.ประภา กาหยี อธิการบดี ม.ราชภัฏภูเก็ต กล่าวถึงความสำเร็จของค่ายนี้ว่า “บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ทุกประการ อาจารย์และนักศึกษาทั้งสองมหาวิทยาลัยเรียนรู้ซึ่งกันและกันทั้งความรู้ กระบวนการทำงานและวัฒนธรรม รวมทั้งได้เรียนรู้ชุมชน เกิดแนวทางการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ได้แก่ การฟื้นฟูป่าชายหาด การอนุรักษ์เต่าทะเล การจัดการขยะ และการทำนา เกิดการดำเนินการ โฮมสเตย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ให้ชุมชน เกิดศูนย์เรียนรู้ในชุมชนบ้านไม้ขาว ความสัมพันธ์และร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยของสองชาติพัฒนามากขึ้น และเกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างมหาวิทยาลัย ราชภัฏภูเก็ตกับชุมชนบ้านไม้ขาว ที่สำคัญกระตุ้นให้ชุมชนมีพลังที่จะพัฒนาชุมชนมากขึ้น”
ดีจัง อยากให้มีกิจกรรมดีๆ อย่างนี้บ่อยๆ
กิจกรรมดีๆๆแบบนี้ น่าจะชวนน้องๆๆไปบ้างนะคะ
อยากไปด้วยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยยย
จะจัดครั้งต่อไปเมือไหร่คะ