อีกก้าว ม.ราชภัฏภูเก็ต กับงานสัปดาห์วิทย์ฯแหล่งเรียนรู้เพื่อท้องถิ่น

18 สิงหาคมของทุกปี สถาบันอุดมศึกษาหรือสถานศึกษา ต่างจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ  ด้วยจุดประสงค์หลักเพื่อเทิดพระเกียรติพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” กิจกรรมทั้งการศึกษาวิจัย ทดลอง นิทรรศการ บรรยายพิเศษ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับประเด็นที่น่าใจในสถานการณ์นั้นๆ เดือนสิงหาคมขอปดาห์วิทย์ สนองท้องถิ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต สถาบันอุดมศึกษาเขตอันดามัน ผลิตบัณฑิตเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ทุกๆ ปีได้จัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์ขึ้น  ซึ่งครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 22 ภายใต้หัวข้อ “วิทยาศาสตร์ก้าวไกล นำไทยก้าวหน้า” กิจกรรมหลากหลายที่จัดขึ้นให้สาระ ความรู้ ทางวิทยาศาสตร์รอบด้าน เพื่อให้ครู นักเรียน ในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียง ได้ร่วมศึกษาเรียนรู้นอกห้องเรียน แต่ละปีมีผู้ร่วมงานไม่น้อยกว่า 2,000 คน ด้วยความประทับใจ ทำให้มีเสียงชื่นชมจากผู้ร่วมงานครั้งนี้ว่า “ทำให้เรียนรู้และเข้าใจวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น”

รศ.สมชาย สกุลทัพ รองอธิการบดี เปิดเผยว่า ปีนี้มหาวิทยาลัยเน้นกิจกรรมที่เปิด     โลกทัศน์ใหม่ๆ การทดลองใหม่ๆ และโครงงานใหม่ๆ ให้กับครู นักเรียน และผู้สนใจทั่วไป ซึ่งเป็นประโยชน์และนำไปใช้ได้จริง นิทรรศการทางด้านวิทยาศาสตร์ และการเกษตร อาทิ ศิลปะ การจัดดอกไม้  พืชสมุนไพรต้านไวรัส 2009 นิทรรศการอาหารปลอดภัย การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช การปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ การเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม การเพาะเห็ดฟางแบบประหยัด การตรวจสอบสารปนเปื้อน/สารพิษในอาหารโดยใช้ชุดทดสอบ (Food test kits) ฯลฯ การทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์อื่นๆ อีกมากมายและหลากหลายวิธีการ “สิ่งที่ทำให้ ครู นักเรียน เห็นตรงกันจากกิจกรรมที่จัดขึ้น คือ เกือบทุกกิจกรรมเป็นไปในลักษณะเข้าถึงผู้ร่วมงาน คือ มีพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นนักศึกษาคอยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวชิ้นงานนั้นๆ ทั้งการนำมาเผยแพร่ ถ่ายทอด และไม่เว้นแม้แต่การทดลองทางวิทยาศาสตร์ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถเรียนรู้ สร้างประสบการณ์โดยตรง ด้วยการลงมือปฏิบัติ ตั้งแต่ขั้นตอนแรก จนขั้นตอนสุดท้ายของการทดลอง ทำให้เกิดความเข้าใจ ความชัดเจนในการทดลองหรือปฏิบัติ ซึ่งบางครั้งการเรียนในห้องเรียน อาจจะไม่มีความพร้อมทางด้านวัสดุอุปกรณ์  บุคลากร และเทคนิควิธีการ เหล่านี้เมื่อครู นักเรียน ได้มารู้ เห็นของจริง และดำเนินการจริง ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ สามารถนำไปพัฒนา เสริมสร้างการเรียนรู้ หรือการสอนของครูได้”

คุณประยูรศรี กิจอำไพพงศ์ ครูสอนวิทยาศาสตร์โรงเรียนวัดเทพนิมิต จังหวัดภูเก็ต นำนักเรียนร่วมงาน จำนวน 160 คน กล่าวว่า ปีนี้มหาวิทยาลัยจัดซุ้มกิจกรรมต่างๆ ไว้มาก  ให้ความรู้แก่เด็กได้หลากหลาย สิ่งที่เด็กได้รับ คือ เด็กได้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ สร้างความสนใจ ใฝ่รู้ และตื่นตัว ส่วนสิ่งที่ครูได้รับอย่างน้อยที่สุด คือ ความรู้ และแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับการจัดโครงงาน กิจกรรม เด็กได้ศึกษาดูงานในทุกส่วน จุดประกายความคิดให้เด็กได้เป็นอย่างดี และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องเรียนต่อไป เพราะเมื่อเด็กๆ มาดูแล้ว เค้าจะต้องรายงานผลการศึกษาดูงาน เป็นกลุ่ม และร่วมกันอภิปราย เกิดประโยชน์แก่เด็กนักเรียนและครูผู้สอนด้วย นางสาวชิดชนก วิสุทธิวัชรกุล และคณะเพื่อนนักเรียน จากโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ผู้ส่งโครงงาน “ตู้ฟักไข่แบบกองทราย” เข้าประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศ กล่าวว่า โครงงานดังกล่าวได้แนวคิดมาจากความต้องการที่จะให้ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ ได้มีวิธีการใหม่ๆ ที่ประหยัดต้นทุนและพลังงาน โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทดแทน และสามารถเพิ่มจำนวนไก่ให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของตลาดได้ ซึ่งใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่ซับซ้อน ก็สามารถสร้างตู้ฟักไข่ได้

ด้าน นายณัฏฐพงศ์ ถือดำ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลลัพธ์ของการจัดงานที่แท้จริง คือประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมได้รับ ว่ามีมากน้อยเพียงใด ซึ่งในปีนี้คณะวิทยาศาสตร์ร่วมมือกับคณะเทคโนโลยีการเกษตร  ดึงความรู้ที่มีอยู่ คือด้านวิชาการไว้บริการแก่บุคคลที่เดินทางมาเยี่ยมชมงาน และที่สำคัญได้นำบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาบรรยายให้ความรู้ เช่น ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ยิ่งเป็นการเพิ่มคุณภาพการจัดงานมากขึ้น และที่ขาดไม่ได้คือ การประกวดและแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กนักเรียน นับว่าตลอดการจัดงานระหว่างวันที่ 18-20 สิงหาคม 2552  เป็นเวลา 3 วัน มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้รวบรวมและนำองค์ความรู้ในทุกศาสตร์มาจัดแสดงให้ผู้สนใจได้รับความรู้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ได้รับจากการจัดงานครั้งนี้ จะเห็นว่าเด็กและเยาวชน มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งประเมินจากจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ยังเห็นว่า กิจกรรมที่เป็นโครงการ หรือการประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ปีนี้จัดประกวดภายใต้ชื่อ “สิ่งประดิษฐ์เพื่อลดการใช้พลังงาน”

ปรากฏว่า นักเรียน ม.ต้น และ ม.ปลาย ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้ประดิษฐ์ชิ้นงานที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ มีคุณค่า เหมาะสำหรับประยุกต์ใช้กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยยึดหลักวิทยาศาสตร์มาเป็นตัวขับเคลื่อน อาทิ ตู้ฟักไข่แบบกองทราย ที่บุคคลทั่วไปก็สามารถทำได้โดยวิธีการง่ายๆ วัสดุที่มีราคาไม่แพง แต่มีประสิทธิภาพสูง หรือการทำนาฬิกาน้ำทะเลลดโลกร้อน สามารถใช้งานได้จริงเพียงแค่เปลี่ยนน้ำทะเล เหล่านี้ทำให้เห็นถึงวิธีคิดของเด็กที่มีจิตนาการสร้างสรรค์ สร้างประโยชน์ได้ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งอนาคตหากมีนักคิดเชิงบวกมากๆ จะช่วยให้สังคมพัฒนาไปในทางที่สมดุลและสร้างสรรค์ได้มากยิ่งขึ้น จะเห็นว่าวิทยาศาสตร์จะไม่เงียบเหงาอีกต่อไป หากมีการนำศาสตร์และศิลป์ในแต่ละด้านมาเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ การเรียนรู้บวกความสนุกและประโยชน์ที่ได้รับจากวิทยาศาสตร์ที่ทุกคนคิดว่ายาก ก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย สถาบันอุดมศึกษาจึงจำเป็นต้องศึกษา และหามุมมองใหม่ๆ มานำเสนอ เพื่อเปิดโลกทัศน์ของบุคคลทุกกลุ่มให้เข้าถึง เข้าร่วม และสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

Related Post

ร่วมแสดงความคิดเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.