คณะ วจก. มรภ. จัดเสวนารำลึก รงค์ วงษ์สวรรค์

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จัดโครงการ วจก.ครั้งที่ 3 ประกอบด้วยกิจกรรมการเสวนาและการจัดแสดงภาพถ่าย “สะพานข้ามยุคสมัยของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์” ผลงานภาพถ่ายของ รงค์ วงษ์สวรรค์ และธวัชชัย พัฒนาภรณ์ เกือบ 40 ภาพ ส่วนการเสวนา  เปิดงานมี วรพจน์  พันธุ์พงศ์ เจ้าของผลงาน “เสียงพูดสุดท้ายของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์” ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ช่างภาพ และสุเชาว์ พงศานนท์ นักเขียนกลุ่มวรรณกรรมภูเก็จ ร่วมเสวนา

ผศ.นพดล จันระวัง คณบดีคณะวิทยาการจัดการ ได้กล่าวถึงที่มาของการจัดโครงการนี้ว่า  โครงการ วจก.เสวนา จัดมาเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ถือเป็นงานบริการวิชาการให้แก่ชุมชน  สำหรับ  ครั้งนี้นับเป็นเกียรติอย่างสูงที่คณะวิทยาการจัดการได้มีโอกาสนำภาพถ่ายผลงานของ “รงค์    วงษ์สวรรค์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ผู้ล่วงลับ และภาพถ่าย “รงค์ วงษ์สวรรค์” ที่ใช้ประกอบหนังสือบทสัมภาษณ์เรื่อง “เสียงพูดสุดท้ายของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์” ที่บันทึกไว้โดยธวัชชัย พัฒนาภรณ์ มาจัดแสดง ที่อาคารบาติก ระหว่างวันที่ 3-11 ก.ย.  นอกจากนี้ในการเปิดงาน ได้มีการเสวนาโดยใช้ชื่อหัวข้อเดียวกับการจัดแสดงภาพถ่าย คือ “สะพานข้ามยุคสมัยของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์” เพื่อให้นักศึกษา อาจารย์ และผู้สนใจได้ร่วมรับฟัง

“เชื่อว่าภาพถ่ายและการพูดคุยเสวนาจะสามารถเป็นสะพานเชื่อมโยงยุคสมัยให้แก่คน  รุ่นใหม่ น่าจะมีส่วนกระตุ้นให้นักศึกษาที่เข้าร่วมงานสนใจการอ่าน นอกจากนี้สำหรับแฟนน้ำหมึกของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ จะได้สัมผัสผลงานของนักเขียนท่านนี้ผ่านงานภาพถ่ายขาว-ดำ ซึ่งมีความน่าสนใจไม่น้อยไปกว่างานเขียนเลย”

สุเชาว์ พงศานนท์ หรือวันเสาร์ เชิงศรี นักเขียนกลุ่มวรรณกรรมภูเก็จ กล่าวในงานเสวนาว่า “รงค์ วงษ์สวรรค์” เป็นนักเขียนในดวงใจของตน ได้อ่านผลงานของท่านตั้งแต่อดีต และติดตามอ่านเรื่อยมา เพราะสนใจสำนวนภาษาที่แปลก มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นนักเขียนที่ยึดถือกติกาและตรงต่อเวลา แม้ในช่วงปลายของชีวิตขณะป่วยเป็นโรคไต แฟนๆ นักอ่านเข้าใจว่าคงไม่ได้มีโอกาสอ่านงานเขียนของเขาอีกแล้ว แต่คุณ ‘รงค์ กลับเขียนบอกว่า เป็นนักเขียนไม่มีสิทธิ์ป่วย คนอ่านเลือกท่านมาแล้ว ถึงแม้จะเจ็บป่วยก็ไม่ได้หยุดสร้างสรรค์ผลงาน

ในขณะที่ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียนที่ได้ทำบทสัมภาษณ์ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ จนเรียบเรียงออกมาเป็นหนังสือเรื่องเสียงพูดสุดท้าย ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ พูดถึงประสบการณ์ที่ตนได้รับการจากทำหนังสือเล่มนี้ว่า เป็นประสบการณ์ที่ดี ทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากคุณ ‘รงค์ เช่น ความเอาจริงเอาจังเรื่องการงาน แม้แต่เวลาขับรถ เมื่อคิดอะไรออก จะให้ภรรยาจดงานไปด้วย  นอกจากนี้เรื่องความมีเมตตา  คุณ ‘รงค์ มีความเมตตามากกับทุกคน  นักเขียนคนไหนไปเยี่ยมที่สวนทูนอิน จะเปิดบ้านพักให้เลย หรืองานเขียนเรื่องไหนที่คุณ ‘รงค์ชอบ ก็จะพยายามหาเบอร์โทรศัพท์ เพื่อโทรไปชมไปบอกทันที  ซึ่งที่จริงไม่จำเป็นต้องทำแบบนี้ก็ได้ เพราะคุณ ‘รงค์เป็นเหมือนกับสิ่งที่เราวางไว้ที่สูงอยู่แล้ว

ในส่วนของการจัดแสดงภาพถ่าย “สะพานข้ามยุคสมัยของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์” นั้น ผศ.อุษณีย์ ศิริสุนทรไพบูลย์ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ ผู้จัดโครงการ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาพที่จัดแสดงครั้งนี้มีประมาณ 40 ภาพ ทั้งหมดเป็นภาพถ่ายขาว-ดำ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ภาพที่คุณ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ถ่ายไว้ในช่วงที่ทำงานให้กับสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ช่วงที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นบรรณาธิการ  ภาพเหล่านี้เป็นฟิล์มเก่าที่ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้มอบให้ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ช่างภาพที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับวรพจน์ พันธุ์พงศ์ ในงานเสียงพูดสุดท้ายฯ นำไปอัดภาพ  และอีกส่วนหนึ่งเป็นภาพชีวิต ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ บันทึกไว้

สำหรับผู้ที่สนใจชมภาพถ่ายชุดดังกล่าว หลังจากที่จัดแสดงที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตแล้ว  ภาพบางส่วนจะนำจัดแสดงที่ร้านหนังสือ (2521) ถ.ถลาง ระหว่างวันที่ 12-28 ก.ย. 52  และจัดแสดงที่ Adex Sign & Gallery ถ.บายพาส ระหว่างวันที่ 4-18 ต.ค. นี้ หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.people-space.blogspot.com

Share:

Related Post

ร่วมแสดงความคิดเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.