มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต อบรม “การใช้สื่อ CD บทเรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน” สำหรับครูระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น มีนายณัฏฐพงศ์ ถือดำ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการอบรม และเชิญ รศ.ศิริชัย อิสสระโชติ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ รศ.มัณฑนา นวลเจริญ ประธานโปรแกรมวิชาชีววิทยาและ ผศ.วิภาวรรณ บัวทอง ประธานสาขาวิชาวิทยาการสารสนเทศ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอน โดยใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศมัลติมีเดีย เทคนิคการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายผู้เรียนรู้ การติดตั้งใช้งานสื่อ CD ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การเข้าเรียนรู้สาระจากสื่อ CD กิจกรรมการเรียนรู้บนฐานสาระความรู้วิทยาศาสตร์ แก่คณะครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย จาก 6 โรงเรียนในจังหวัดภูเก็ต กว่า 90 คน ระหว่างวันที่ 12-13 กันยายน 2552 ณ ห้องประชุม 1 อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
นายณัฏฐพงศ์ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในการจัดทำหลักสูตรกลางใช้อบรมครู เพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ โดยเน้นทั้งเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคิด วิเคราะห์ กระบวนการสืบเสาะความรู้ และการแก้ปัญหาเพื่อให้ครูผู้สอนสามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จได้โดยครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ มีความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สื่อ CD และการนำเนื้อหาในสื่อไปประยุกต์ร่วมกับการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับผู้เรียน
ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นให้โรงเรียนใช้ประโยชน์สื่อ CD ความรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐานที่ได้รับ ประมวลข้อคิดเห็นจากผู้ใช้งานสื่อ CD ความรู้วิทยาศาสตร์ (ครู-นักเรียน) และเพื่อสร้างทำเนียบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Directory) ของแหล่งเรียนรู้ที่มีการบริหารจัดการและเปิดบริการ โดยจะต้องมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้บริการอยู่ด้วย ตลอดจนเพื่อรวบรวม เรียบเรียงข้อมูลของแหล่งเรียนรู้และจัดทำให้อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์ (ลักษณะข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และแผนที่) และนำสิ่งที่ประมวลข้อมูลแหล่งเรียนรู้เข้าระบบทำเนียบอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นช่องทางเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้มีการเข้าไปศึกษาเรียนรู้มากยิ่งขึ้น จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้น อย่างน้อยที่สุดจะเป็นการพัฒนาศักยภาพครู ด้านการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่”