ม.ราชภัฏภูเก็ต อบรม ดนตรีบำบัด หวังเสริมสร้างคุณภาพชีวิตนักศึกษา

สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จัดโครงการ  “การอบรมดนตรีบำบัดเพื่อคุณภาพชีวิต” ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดนตรีบำบัด ให้นักศึกษาเข้าใจดนตรีบำบัด รวมถึงสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ในการนี้ นายมานพ ชาชิโย คณบดีคณะครุศาสตร์ เป็นประธานเปิดการอบรม พร้อมด้วย ผศ.สุวิชา วิริยมานุวงษ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะครุศาสตร์ ผศ.ประโมทย์ พ่อค้า ประธานสาขาวิชาดนตรีศึกษา อาจารย์ นักศึกษา จำนวนกว่า 70 คน  เข้าร่วม โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีบำบัด คือ ผศ.ดร.ศันสนีย์  จะสุวรรณ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับความหมาย จุดมุ่งหมาย ประโยชน์ ผลของดนตรีบำบัด องค์ประกอบ และกรณีศึกษาการนำดนตรีบำบัดมาใช้กับผู้ป่วย เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2552 ณ ห้องประชุม   ปีกผีเสื้อ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

ผศ.สุวิชา กล่าวว่า “ดนตรี คือ ศิลปะที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสุขแก่จิตใจมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ดนตรีคือสุนทรีย์ที่จำเป็นแก่ชีวิต โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่มีแต่ความสับสนวุ่นวาย ผู้คนเกิดความเครียดในการดำรงชีวิตมากขึ้นกว่าในอดีต บางคนหาทางออกด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดผลร้ายแก่ร่างกายและจิตใจมากขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าวคำว่า “ดนตรีบำบัด” จึงเกิดขึ้นมาเป็นเสมือนทางเลือกหนึ่งให้กับพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งเป็นวิชาที่    บูรณาการศาสตร์หลายแขนงที่เกี่ยวพันกับพฤติกรรมมนุษย์ โดยใช้ดนตรีเป็นสื่อแม้ดนตรีบำบัดจะเกิดขึ้นในสังคมนานแล้ว แต่องค์ความรู้ดังกล่าวยังไม่แพร่หลายมากนัก ดังนั้นสาขาดนตรีศึกษา จึงเห็นถึงความสำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้าน “ดนตรีบำบัด” ให้แพร่หลายในหมู่นักศึกษา รวมไปถึงนักศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง อาทิ สาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน การศึกษาปฐมวัย ตลอดจนนักวิชาการและผู้สนใจทั่วไป ให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”

Related Post

ร่วมแสดงความคิดเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.