คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมกับ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัย ราชภัฏภูเก็ต จัดโครงการ “การฝึกอบรมกระบวนการส่งเสริมและเรียนรู้ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ชุดโครงการมหาวิทยาลัยพอเพียง” เพื่อให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการน้อมนำปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้เยาวชน ซึ่งเป็นรากฐานและกำลังสำคัญของประเทศ ได้เกิดความตระหนักในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต โดยให้มีการทดลองปฏิบัติในพื้นที่จริง ตลอดจนเพื่อให้เยาวชนเป็นตัวกลางในการนำแนวคิดเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปเผยแพร่ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน สังคม และประเทศ ซึ่งมีการฝึกอบรมระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน 2552 ในลักษณะของการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้ผู้เข้าร่วมการอบรมได้รู้ในหลักการและแนวทางการปฏิบัติจริง ในการนี้ รศ.บุษบา จิรกุลสมโชค เป็นประธานเปิดโครงการ พร้อมด้วย ผศ.ธวัชชัย ทุมทอง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อาจารย์ นักศึกษา ครู นักเรียน จำนวนกว่า 500 คน เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2552 ณ โรงละคร มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
รศ.บุษบา กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มีพันธกิจหลักที่สำคัญ ในการผลิตบัณฑิตออกไปสู่สังคมให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ และเป็นที่พึงประสงค์ของสังคม รวมทั้งสามารถดำรงตน ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข เป็นผู้ที่รู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม ตลอดจนสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเหมาะสม การที่บัณฑิตจะบรรลุผลดังกล่าวได้นั้น มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานหลักที่จะกำหนดทิศทางให้แก่บัณฑิตเพื่อเกิดองค์ความรู้ ปลูกจิตสำนึกที่ดีงามแก่ตนเอง และสังคม โดยเฉพาะการเป็นผู้รู้จักประมาณตน สามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม การที่บัณฑิตจะบรรลุผลดังกล่าวได้นั้น มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานหลัก ที่จะกำหนดทิศทางให้แก่บัณฑิตเพื่อเกิดองค์ความรู้ ปลูกจิตสำนึกที่ดีงามแก่ตนเอง และสังคม โดยเฉพาะการเป็นผู้รู้จักประมาณตน สามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม
ดังที่ปรากฏในพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2547 หมวด 1 บททั่วไป ในมาตรา 8 ระบุไว้ว่า มหาวิทยาลัยต้อง ศึกษา วิจัย ส่งเสริม และสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริในการปฏิบัติภารกิจของมหาวิทยาลัย เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ดังนั้นการจัดฝึกอบรมกระบวนการส่งเสริมและเรียนรู้ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้ชุดโครงการมหาวิทยาลัยพอเพียง เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของมหาวิทยาลัย ในการส่งเสริมการเรียนรู้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้เข้าใจ เข้าถึงและน้อมนำเอาปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวัน อย่างมีประสิทธิภาพ”
ด้าน ผศ.ธวัชชัย กล่าวให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้ร่วมกับคณะเทคโนโลยีการเกษตร เล็งเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับการน้อมนำพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยเฉพาะปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนการสอน จึงได้จัดโครงการ “มหาวิทยาลัยพอเพียง” ขึ้น เพื่อเป็นการเผยแพร่และให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการและกระบวนการพัฒนาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งหวังให้เด็กและเยาวชน เกิดการเรียนรู้และเสริมสร้างความเข้าใจ น้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งสามารถนำแนวคิดไปเผยแพร่สู่ชุมชน อันจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป”