ม.ราชภัฏภูเก็ต สร้างพลังสุขภาพจิต เสริมภูมิต้านทานให้ นศ.

ศูนย์เวชศึกษาป้องกัน กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จัดโครงการสร้างเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต อบรมการสร้างพลังสุขภาพจิต ทั้งนี้เพื่อให้นักศึกษาได้มองเห็นคุณค่าของตนเอง ได้รู้ถึงสาเหตุและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสังคม ตามวัยของตน สามารถเรียนรู้บทบาททางเพศอย่างเหมาะสม ตลอดจนทำให้ทราบถึงแหล่งที่นักศึกษาสามารถร้องขอความช่วยเหลือ ขอคำปรึกษา จากผู้ใหญ่ที่ตนเองไว้วางใจได้     ในการนี้ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ประภา  กาหยี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการ พร้อมด้วย ผศ.ปวารณา  อัจฉริยบุตร ผู้อำนวยการศูนย์เวชศึกษาป้องกัน ในการนี้มีการจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ประเมินพลังสุขภาพจิต การสร้างพลังจิต การฝึกปฏิบัติทักษะการตัดสินใจ กลยุทธ์ในการปรับตัวเมื่อเผชิญกับความเครียด โดยมี คุณเมธินี  ก้อนแก้ว พยาบาลสถาบันชำนาญการ และนักจิตวิทยาจากโรงพยาบาลวชิระ คุณภูริดา นักลำพันธ์ เป็นวิทยากรให้ความรู้ตลอดการอบรม ณ ห้อประชุม 1 อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เมื่อวันก่อน

ผศ.ปวารณา กล่าวว่า  เราถือได้ว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นช่วงของวัยรุ่นตอนปลาย ซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่จะก้าวไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ หรือเป็นคนทำงานที่มีคุณภาพ การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยมีส่วนสำคัญในการจุดประกายความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรม ซึ่งในเชิงจิตวิทยา กล่าวว่า การที่คนเราจะประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตได้นั้น จะต้องเป็นคนที่เชื่อมั่นในตนเองในทางที่ถูกต้อง เคารพตนเอง และมีแรงจูงใจในการที่จะทำสิ่งที่เป็นการสร้างสรรค์สังคม มีความกล้าหาญที่จะแสดงความเป็นตัวตนในทางที่ถูกต้อง  ในขณะที่จังหวัดภูเก็ตมีความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งในด้านบวกและด้านลบ การที่นักศึกษาขาดการนับถือตนเอง (Self Esteem) จะเป็นการง่ายต่อการเข้าไปสู่อบายมุข หรือง่ายต่อการเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเอดส์ ความเสี่ยงต่อการติดยาเสพติด หรือแม้กระทั่งความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ

ดังนั้นเพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้ชีวิต หรือมีทักษะชีวิตอย่างมีคุณภาพในช่วงชีวิตของการศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการสร้างประโยชน์ต่อสังคมในอนาคต โครงการสร้างภูมิต้านทานชีวิตได้เชิญวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถมาให้ความรู้เชิงลึกกับนักศึกษา และนักศึกษาสามารถนำความรู้หรือทักษะที่ได้จากการอบรมครั้งนี้ ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และอาจจะมีส่วนในการช่วยเหลือเพื่อนที่มีอุปสรรคในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยได้

Related Post

ร่วมแสดงความคิดเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.