(PRPKRU) จังหวัดภูเก็ต ได้รับการรับรองจากยูเนสโก ให้เป็นเมืองสร้างสรรค์แห่งวิทยาการอาหาร ซึ่งเป็นเมืองแรกของอาเซียน จึงทำให้ภูเก็ตมีโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจการลงทุนต่อยอดจากธุรกิจการท่องเที่ยวได้เกิดกระแสการท่องเที่ยวด้านอาหาร (Food Tourism) ประเภทอาหารพื้นเมือง และผลิตภัณฑ์อาหารที่เกิดจากนวัตกรรมใหม่ ๆ
สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต โดย คณะเทคโนโลยีการเกษตร มีการเปิดสอนหลักสูตรที่รองรับความต้องการดังกล่าว คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร เป็นหลักสูตรที่เน้นการเรียนการสอนและการฝึกทักษะการปฏิบัติ พร้อมด้วยทีมคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวเฉพาะด้าน พร้อมห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยได้มาตรฐาน โดยใช้ตัวอย่างวัตถุดิบทางการเกษตรท้องถิ่นมาเป็นแนวทางในการศึกษา โดยสามารถนำความรู้และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการแปรรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการควบคุมคุณภาพอาหาร เพื่อให้อาหารมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีรูปลักษณ์ที่โดดเด่น บรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามและมีความเหมาะสม เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ส่งเสริมการแข่งขันและสร้างรายได้ให้ภาคเกษตร ภาครัฐ และเอกชน
อาจารย์ประเสริฐ จริยะเลอพงษ์ รองคณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวว่าสาขา Food Sci PKRU เป็นหลักสูตรที่เน้นให้นักศึกษาเรียนรู้ภาคทฤษฎีร่วมกับการปฏิบัติ โดยมีเครื่องมือที่ครบถ้วน เพื่อการวิเคราะห์และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น เครื่อง Spray Dryer เครื่องทำแห้งแบบพ่นฝอย และเครื่อง Freeze Dryer ทำแห้งโดยใช้ความเย็น ซึ่งเป็นเครื่องมือในใช้การบริการวิชาการแปรรูปสินค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์แก่ผู้ประกอบทางด้านอาหารและเกษตร เป็นการเพิ่มมูลค่าอาหาร มีคุณค่าโภชนาการเพิ่มมากขึ้น จนสำเร็จเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งมอบให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนำไปทำการตลาด ผลิตและจัดจำหน่าย ได้แก่ เจลลี่สับปะรดภูเก็ต ผงหมักเนื้อจากสับปะรดภูเก็ต นมแพะผง ครีมชีสนมแพะ นมแพะข้นหวาน น้ำพริกแปรรูป ชาชงสมุนไพรส้มแขก ไวน์ มัลเบอรี่ ฯลฯ นับเป็นการตอบโจทย์แผนพัฒนามหาวิทยาลัย ในด้านการชูจุดเด่นทางเกษตรและอาหาร เพื่อกู้วิกฤตช่วงโควิด-19 ให้ประชาชนเกิดรายได้
ทางด้าน อาจารย์ ดร.พิริญญา กฤศวงศ์งาม ประธานสาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร นักศึกษาของเรามีโอกาสได้ลงปฏิบัติการทั้งในส่วนของการพัฒนาสร้างสรรค์อาหาร วิเคราะห์และแปรรูปในห้องแล็บ Food Sci รวมถึงได้ลงพื้นที่สถานประกอบการในชุมชน ลงมือและมีส่วนร่วมในการวิจัยและสร้างสรรค์อาหาร วางแผนและทดลอง จากการลงพื้นที่สำรวจความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ ตลอดจนฝึกประสบการณ์ในโรงงานอุตสาหกรรมด้านอาหารชั้นนำ สำหรับอาชีพหลังสำเร็จการศึกษาของบัณฑิต ประกอบด้วย
เอกชน : ฝ่ายผลิต ฝ่ายควบคุมคุณภาพ นักวิจัยในอุตสาหกรรมอาหาร สถาบันตรวจสอบและวิจัยภาคเอกชน ภัตตาคาร โรงแรม ฯลฯ
ภาครัฐ : นักวิชาการ นักวิจัย นักโภชนาการในสถาบันการศึกษา สถาบันค้นคว้าและวิจัยทางด้านอาหารภาครัฐ โรงพยาบาล ฯลฯ
อาชีพอิสระ : ผู้ประกอบการทางด้านอาหาร ธุรกิจอาหารออนไลน์
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคณะเทคโนโลยีการเกษตร และสมัครศึกษาต่อ
เว็บไซต์ : agritech.pkru.ac.th/ FB : www.facebook.com/pkruagritech/