หลังจากที่จังหวัดภูเก็ตได้มีการประชุมปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นว่ามีเอกชนกว้านซื้อที่เพื่อก่อสร้างท่าเรือมารีน่าเพิ่มเติม ทำให้ทางการหวั่นเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งปะการังและหญ้าทะเล รวมทั้งกระเทือนต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน รวมถึงจะทำให้ทัศนวิสัยทางชายฝั่งมีลักษณะเหมือนใยแมงมุม มีสิ่งก่อสร้างที่ยื่นลงไปในทะเลเป็นจำนวนมาก
Phuketindex.Com ขอเกาะติดประเด็นร้อน โดยเข้าไปสอบถามกับสำนักงานสิ่งแวดล้อม จ.ภูเก็ต โดย ผู้อำนวยการธงชัย ภู่วชิรานนท์ จะมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
ผอ.ธงชัย กล่าวว่า “อย่างที่เราทราบกันว่า จ.ภูเก็ตนั้นมีท่าเรืออยู่เป็นจำนวนมากทั้งด้านชายฝั่งตะวันตกและตะวันออก โดยจะแบ่งเป็นท่าเทียบเรือโดยสารของทางการ ที่สร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนเดินทางโดยสาร และอีกชนิดคือ ท่าเรือมารีน่า ที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อการท่องเที่ยว เป็นสถานที่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นที่จอดเรือหรูส่วนตัว และใช้อาณาบริเวณรอบข้าง เป็นโรงแรมรีสอร์ท ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า จ.ภูเก็ต นั้นมีนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยว แต่อีกด้านที่เราต้องสูญเสียไปก็คือปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”
“จำนวนมารีน่าที่มีอยู่บนเกาะภูเก็ตในปัจจุบันนั้นนับว่ามีอยู่จำนวนมากแล้ว การดูแลรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมของมารีน่าที่ต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปตรวจสอบอีกครั้งว่าได้ทำตามข้อตกลงหรือไม่ แต่สิ่งที่เรากังวลจริงๆ ก็คือ ยังมีความพยายามจากเอกชนอีกกว้านซื้อที่ดินอีกหลายจุดในภูเก็ต ทั้งที่เกาะสิเหร่และอีกหลายจุดทางชายฝั่งตะวันออก ซึ่ง ณ ตอนนี้ทางการภูเก็ตจะพยายามทำความเข้าใจกับเอกชนอย่างจริงจัง ว่าปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมในภูเก็ตขาดความสมดุลอย่างมาก หากมีการก่อสร้างมารีน่าเพิ่มเติม ปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจจะทวีความเลวร้ายมากยิ่งขึ้น”
“ความเห็นของสำนักงานสิ่งแวดล้อม ก็คือ ตอนนี้ควรจะหยุดได้แล้วสำหรับการก่อสร้างท่าเรือมารีน่า เพราะผมมองว่าประโยชน์ที่ได้กลับมาไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่เราต้องสูญเสียไป ภาพปะการัง สัตว์น้ำสวยงามที่เคยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวภูเก็ต ปัจจุบันมันลดน้อยลงไปมากแล้ว ต่อไปนักท่องเที่ยวจะอยากมาชมอะไรกัน ภูเก็ตเราแตกต่างจากที่อื่นเพราะทรัพยากรธรรมชาติของเราสมบูรณ์มาก และมั่นใจว่านี่คือเหตุผลหลักที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามายังบ้านของพวกเรา ไม่ใช่เพราะท่าเรือมารีน่าหรือรีสอร์ทสุดหรู วิธีแก้ง่ายๆ ก็คือ ให้ใช้ประโยชน์จากท่าเรือโดยสารของทางการให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่แทน ดีกว่าไปทำร้ายชายฝั่งทะเลมากไปกว่านี้ เพราะทุกวันนี้หากมองเกาะภูเก็ตจากบนมุมสูงก็จะเห็นท่าเรือยื่นออกไำปจำนวนมากไม่สวยงามเหมือนแต่ก่อน ด้วยเหตุผลเหล่านี้นี้หน่วยงานเราจึงพยายามวิงวอนผู้ที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาอย่างรอบคอบ” นายธงชัยกล่าว
ท่าเทียบเรือธรรมชาติ บริเวณเกาะสิเหร่
อีกมุมหนึ่งคือชาวบ้านตาดำๆ ซึ่งไม่รู้ว่าวันไหนที่ทำกินของพวกเขาจะถูกโอนกรรมสิทธิ์ให้กับนายทุน ดังเช่น นายสมรักษ์ นนทขันธ์ ชาวบ้านผู้มีอาชีพหาปลาบริเวณเกาะสิเหร่ บอกกับเราว่า “สำหรับผม การจะมาก่อสร้างท่าเรืออำนวยความสะดวกชาวต่างชาติในบริเวณนี้ นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมสำหรับคนทำมาหากินอย่างพวกเรา ที่ดิน ผืนน้ำแถวนี้ คือที่ทำกินของพวกเราตั้งแต่บรรพบุรุษ หากต่อไปมีท่าเรือฝรั่งมาทำ ใครจะมีหลักประกันให้ผมได้บ้างว่าสิทธิในการหาเงินมาเลี้ยงปากท้องจะเหมือนเดิม และใครจะมารับผิดชอบชีวิตของครอบครัวชาวบ้านแถวนี้ นี่คือคำถามที่ผมอยากจะสะท้อนกลับไปกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”
สิริพงษ์ มุกดา : รายงาน