นักดาราศาสตร์ประมาณการโอกาสเห็นฝนดาวตกลีโอนิดส์ในไทยสูงสุดช่วงเวลาประมาณ 04.43 น.ของเช้าวันที่ 18 พ.ย.อัตราความชุกที่ 100-500 ดวงต่อชั่วโมง!
ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อย่างหนึ่งที่ดูสวยงาม น่าสนใจ น่าตื่นเต้น และสามารถดูได้ง่ายด้วยตาเปล่า อีกทั้งยังเป็นการศึกษาเรียนรู้และเข้าใจเรื่องของธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
สาเหตุของการเกิดฝนดาวตก เกิดจากดาวหางซึ่งเป็นก้อนน้ำแข็งที่ประกอบด้วยฝุ่นหินเกาะกลุ่มกันจำนวนมาก เมื่อโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ก้อนน้ำแข็งจะเกิดการระเหิด ทิ้งแนวฝุ่นหินเป็นสายธารยาว เมื่อโลกโคจรเข้าไปตัดกับสายธารดังกล่าวนี้ เศษฝุ่นหินก็จะเคลื่อนตัววิ่งเข้ามาในบรรยากาศของโลกด้วยความเร็วสูง และเกิดการเสียดสีจนลุกไหม้ปรากฏเป็นขีดแสงสว่างให้เราเห็น ที่เราเรียกว่า “ฝนดาวตก” นั่นเอง
กรณีของฝนดาวตกลีโอนิดส์หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโตนี้ เกิดจากการที่โลกโคจรผ่านเข้าไปในซากสายธารฝุ่นหินของดาวหาง 55 พี เทมเพล-ทัดเทิล ที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งโดยปกติ คาบการโคจรของดาวหางดวงนี้คือ 33.2 ปี ซึ่งในปีที่ครบรอบคาบการโคจรของดาวหาง ก็จะเป็นการมาเติมเศษฝุ่นหินให้มากยิ่งขึ้น และเมื่อโลกโคจรผ่านเข้าไปในใจกลางสายธารของมัน ในปีนั้นโอกาสจะเกิดฝนดาวตกก็จะมีมากกว่าปีปกติ เราจึงเรียกว่าปรากฏการณ์ “พายุฝนดาวตก” ซึ่งจากบันทึกในอดีต ดังตัวอย่างในปี ค.ศ. 1966 ที่ฮาวาย ได้เกิดพายุฝนดาวตกที่มีอัตราการตกมากถึง 5-6 หมื่นดวงต่อชั่วโมง สำหรับชื่อของฝนดาวตกลีโอนิดส์ ก็มาจากการอ้างอิงกับแหล่งการเกิด คือ กลุ่มดาวสิงโต นั่นเอง คือแม้เราจะเห็นฝนดาวตกในทิศทางต่างๆ กัน แต่เมื่อเราลองลากเส้นย้อนกลับไปยังแหล่งการเกิดแล้ว ฝนดาวตกทุกดวงจะมาจากกลุ่มดาวสิงโต
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รอง ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. กล่าวว่า “สำหรับในช่วงวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ แม้จะไม่ใช่รอบปีของการเกิดพายุฝนดาวตกลีโอนิดส์ แต่เราก็จะมีโอกาสเห็นฝนดาวตกในอัตราความชุกมากกว่าปีก่อนๆ เนื่องจากการคำนวณของนักดาศาสตร์หลายสำนัก พบว่า โลกจะโคจรตัดผ่านเศษซากสายธารฝุ่นหินของดาวหาง 55 พี เทมเพล-ทัดเทิล ถึงสองสายธารด้วยกัน ที่ทิ้งร่องรอยไว้ในปี ค.ศ. 1466 และ 1533 โดยอัตราการตกราว 100-500 ดวงต่อชั่วโมง (อ้างอิงที่เมื่อกลุ่มดาวสิงโตมาอยู่ที่จุดกลางฟ้าเหนือศีรษะ) แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะเห็นฝนดาวตกตลอดทั้งชั่วโมง และจำนวนฝนดาวตกที่เห็นก็ไม่ได้เห็นมากถึง 500 ดวง ตัวอย่างเช่น อัตราการตกที่ 400 ดวงต่อชั่วโมง เราเห็นแค่ช่วงเวลา 15 นาที นั่นคือ ในช่วงชั่วโมงนั้น เราจะเห็นดาวตกประมาณ 100 ดวง ซึ่งก็ถือว่ามากแล้ว”
สำหรับช่วงเวลาที่ประเทศไทยจะมีโอกาสเห็นฝนดาวตกสูงสุดในครั้งนี้ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา กล่าวว่า “ตั้งแต่ตีหนึ่งเป็นต้นไป แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม ดาวตกลูกสวยๆ มักจะมาตอนประมาณห้าทุ่ม เป็นเวลาที่กลุ่มดาวสิงโตเพิ่งขึ้นจากขอบฟ้า คือจะเห็นเป็นไฟร์บอลล์ (ดาวตกดวงใหญ่) วิ่งพาดผ่านท้องฟ้าทิ้งร่องรอยให้เห็นเป็นลำสว่างทางยาวคล้ายรางรถไฟ ซึ่งความเร็วยังไม่สูงมาก ทำให้เราเห็นได้ง่าย สำหรับช่วงพีคสูงสุดของการตก นักดาศาสตร์หลายสำนักเห็นตรงกันว่า คือเป็นเวลาประมาณ 04.43 น. ตามเวลาในบ้านเราของเช้าวันที่ 18 พ.ย.อัตราความชุกที่ 100-500 ดวงต่อชั่วโมง ซึ่งช่วงนั้นจะป็นเวลาที่ดาวสิงโตจะอยู่บริเวณกลางฟ้าพอดี นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การชมมากกว่าประเทศอื่นๆ หลายประเทศ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของโอกาส เพราะถึงเวลาจริง เราอาจจะเห็นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็เป็นได้”
สำหรับประโยชน์ของการชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา กล่าวทิ้งท้ายว่า “สำหรับคนทั่วไปก็คงจะได้รับความตื่นเต้น ความสวยงาม และเป็นแรงบันดาลใจให้ไปศึกษาเรื่องปรากฏการณ์ฝนดาวตกหรือปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อื่นๆ ต่อไป ส่วนนักวิจัยนั้น ก็จะศึกษาฝุ่นละอองรอบๆ ดวงอาทิตย์ ศึกษาวัตถุที่อยู่รอบๆโลกว่ามีอะไรบ้าง”
สถานที่จัดกิจกรรมชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ จังหวัดภูเก็ต จัดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
จะไปดูยังไง ระวังคนขับสวนเลนออกมาด้วยนะครับ เป็นห่วง http://news.phuketindex.com/government/pkru-39-17…
ขอบคุณคนข้างบนค่ะ
ไปดูด้วยคน
สวย
สวยจัง
อยากดู
อยากไปดูจัง
สวยมากเลยอยากดู
ผมว่าจะไปดูด้วยเหมือนกัน น่าจะที่ ม.ราชภัฏภูเก็ต อะครับผม