ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้( 28 ส.ค.) ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตได้มีฝนตกลงมาอย่างหนักตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมาและต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังหลายจุด โดยเฉพาะบริเวณถนนสาย ก.ด้านข้างโรงพยาบาลเมืองป่าตอง มีระดับน้ำท่วมขังสูงกว่า 50 เซนติเมตร เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลเมืองป่าตอง ต้องนำรถดับเพลิงมาจอดปิดกั้นเพื่อไม่ให้รถวิ่งผ่านไป-มา และนอกจากนี้ยังมีในส่วนของร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนสายดังกล่าว ได้รับผลกระทบด้วย ต้องปิดการให้บริการลงชั่วคราว
ขณะเดียวกันบริเวณพื้นที่ หมู่1,4,5 และ หมู่ 6 ต.กมลา อ.กะทู้ ก็ประสบปัญหาน้ำท่วมขังเช่นเดียวกัน โดยนายจุฑา ดุมลักษณ์ นายก อบต.กมลา ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งได้ให้เจ้าหน้าที่นำรถแบ็คโฮเข้าทำการขุดลอกสิ่งกีดขวางทางน้ำไหล แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง “การเฝ้าระวังปัญหาดินสไลด์ น้ำป่าไหลหลาก นั้น ทาง อบต.ได้มีการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณไปยังศูนย์เตือนภัย เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็จะแจ้งมายัง อบต.”
นายจุฑา กล่าวถีงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในระยะยาวด้วยว่า ตอนนี้ทาง อบต.ได้มีการตั้งงบประมาณ 35 ล้านบาท ทำเขื่อนตามแนวคลองระยะ 3 กิโลเมตร ส่วนแผนระยะสั้น มีการทำแก้มลิง และทำฝายกั้นน้ำที่ไหลลงมาเพื่อไม่ให้มีความรุนแรงมากนัก ส่วนการเฝ้าระวังปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่อื่นๆ เช่น ต.ราไวย์ และ ต.ฉลอง นายโชติรินทร์ เกิดสม ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เมื่อที่ผ่านมาตนได้ลงไปดูพื้นที่ ต.ฉลอง และราไวย์ ก็ได้พบกับนายกฯ รองนายก กำลังแก้ไขปัญหาการระบายน้ำ ซึ่งมีฝนตกหนังอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระบายน้ำไม่ทัน
“ระบบการระบายน้ำมีอยู่แล้ว แต่สาเหตุน้ำระบายไม่ทันนั้น เกิดจากดินจากโครงการต่างๆ ซึ่งก่อสร้างปิดทางน้ำไหล แล้วก็มีการเปิดหน้าดินทำให้ดินไหลลงมาอุดตันท่อระบายน้ำ โดยในพื้นที่ ต.ราไวย์จุดที่มีปัญหาน้ำท่วมขัง จะเป็นในส่วนของหมู่บ้าน ซึ่งเลย 5 แยกฉลองขึ้นไป และยังมีในส่วนของบริเวณทางเข้า อบต.ฉลอง หน้าการไฟฟ้า และเลยวัดหลวงปู่สุภา ก็มีน้ำท่วมขังเป็นช่วงสั้นๆ เพราะน้ำไหลลงมาจากหมู่บ้าน”
นายโชตินรินทร์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับจุดที่น้ำท่วมขัง และดินสไลน์ของจังหวัดภูเก็ตที่เฝ้าระวัง มีจำนวน 21 จุดกระจายไปทั้ง 3 อำเภอ ซึ่งในส่วนของดินสไลด์นั้น ตนไม่ห่วงเพราะเป็นจุดที่ทางท้องถิ่นดูแลอยู่แล้ว แต่ที่ตนเป็นห่วง และควรเฝ้าระวังคือจุดที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ เพราะว่าพื้นที่ภูเก็ตไม่ได้เป็นพื้นที่ราบอาจจะเป็นอันตรายต่อบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงได้