ที่ห้องประชุม POC ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต วันนี้ (28 ต.ค57) นายประเสริฐ รักไทยดี ผู้เชี่ยวชาญด้านประชาสัมพันธ์ สถานบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าชี้แจงโครงการศึกษาวางแผนแม่บท และสำรวจออกแบบท่าเรือขนาดเล็กชายฝั่งอันดามันภูเก็ต – พังงา-กระบี่ ระยะที่ 1 แก่ผู้มีส่วนได้–เสียซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ อาทิ ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภูเก็ต ภาคเอกชน และประชาชนในจังหวัดภูเก็ต
ซึ่งโครงการดังกล่าว กรมเจ้าท่า ได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการให้ทำการศึกษาวิเคราะห์ความจำเป็นในการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนาดเล็กริมชายฝั่งอันดามัน และตามเกาะแก่งของจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่รวมถึงวางแผนแม่บท พร้อมจัดลำดับความสำคัญสูงสุดจำนวน 3 พื้นที่ เพื่อออกแบบรายละเอียด องค์ประกอบโครงการ จัดทำมาตรฐานท่าเรือขนาดเล็กและองค์ประกอบของท่าเรือ และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทั้งนี้เพื่อรองรับการเจริญเติบโต เชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยวและขนส่งทางน้ำ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง อันเป็นการยกระดับการท่องเที่ยวของภูมิภาคให้สูงขึ้น รวมถึงช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีความยั่งยืนต่อไป
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการดังกล่าว จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรกเป็นการศึกษา สำรวจ รวบรวมความต้องการท่าเทียบเรือ ข้อมูลนักท่องเที่ยว สินค้า ประมง เส้นทางการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อแยกขนาดท่าเรือ จัดลำดับความสำคัญท่าเทียบเรือขนาดเล็กทั้ง 3 แห่งเพื่อนำไปทำการออกแบบ / ระยะที่สองเป็นการสำรวจเพิ่มเติมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ-สังคมและสิ่งแวดล้อม บริเวณท่าเทียบเเรือ 3 ลำดับแรก เสนอแนะแนวทางการออกแบบและวางผังแม่บท /และระยะสุดท้ายเป็นการออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นจัดทำมาตรฐานท่าเทียบเรือขนาดเล็ก โดยจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 12 เดือน