เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2552 ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต ได้จัดประชุมโครงการหอพักสีขาวขึ้น เพื่อเป็นการให้ความรู้และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหอพักเชิงพาณิชย์ได้รับ ทราบถึงแนวทางปฎิบัติที่ชัดเจนในการประกอบการหอพัก ในการแสวงหาความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการมั่วสุมของเยาวชนในหอ พักต่อไป โดยมีนายตรี อัครเดชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุม และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่หอพักที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโครงการหอพักสีขาว เจ้าของหอพัก ผู้จัดการหอพัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
น.ส.พรรณี สิทธิการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต ได้ตระหนักและให้ความสำคัญถึงนโยบายของรัฐบาล และ จ.ภูเก็ต ในการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ 2552 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหอพักและที่พักอาศัยเชิงพาณิชย์ ซึ่งผู้เช่าอาศัยส่วนมากเป็นเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ที่เข้ามาศึกษาใน จ.ภูเก็ต และพักอาศัยในหอพักและที่พักอาศัยเชิงพาณิชย์ต่างๆ และจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ประกอบการหอพัก และที่พักอาศัยเชิงพาณิชย์ ได้รับทราบและปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2507 และพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รวมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับทราบนโยบายการถ่ายโอนภารกิจหอพักในอนาคตด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในการประกอบการหอพัก อันจะเป็นการแสวงหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการมั่วสุมของเยาวชนในหอ พักต่อไป
น.ส.พรรณี กล่าวต่ออีกว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการส่งเสริมการประกอบการหอพักที่ปฏิบัติตามกฎหมาย และตามมาตรฐานหอพักสีขาว โดยมีการคัดเลือกหอพักที่ประกอบการได้ตามมาตรฐานหอพักสีขาว จากคณะกรรมการคัดเลือก และคณะทำงานคัดเลือกหอพักที่สีขาว ให้ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ซึ่งในปีงบประมาณ 2552 นี้ มีหอพักที่เข้าประกวดหอพักมาตรฐานสีขาวทั้งหมด 15 แห่ง แต่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดเพียง 7 แห่ง ประกอบด้วย หอพักหญิงโรงเรียนภูเก็ตเทคโนโลยี,หอพักหญิงพี ที,หอพักหญิงฮาซานะห์,หอพักหญิงสุมิตรา,หอพักหญิงพนิตา, หอพักหญิงณรงค์ฤทธิ์ ธนัตถ์ชา และหอพักหญิงพี & วาย
น.ส.พรรณี กล่าวถึงการออกสำรวจจำนวนหอพักในพื้นที่ด้วยว่า จากการที่ทางสำนักงานพัฒนาสังคมฯ ได้ประสานไปทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสำรวจหอพักทั้งหมดในพื้นที่ นั้น พบว่าจากข้อมูลที่ส่งมา ซึ่งมีกว่า 1,000 แห่งนั้น ที่เข้าข่ายเป็นหอพักมีประมาณ 200 แห่ง และในจำนวนนี้เป็นหอพักที่จดทะเบียนถูกต้องตาม พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2507 เพียงจำนวน 51 แห่ง