เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายขจรศักดิ์ สิงโตกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขต 4 และเขต 7 เป็นประธานการประชุมการตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร เพื่อนิเทศงาน และติดตามผลการดำเนินงานของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายสมิทธิ์ ปาลวัฒน์วิไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในพื้นที่ ตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
นายขจรศักดิ์ กล่าวว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ผลผลิตสำคัญมีทั้ง ข้าว ยางพารา ที่นอกจากจะมีใช้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ ยังมีเหลือมากพอนำไปเป็นสินค้าส่งออก นำรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่ารวมนับหมื่นๆ ล้านบาท แต่การแก้ปัญหาภาคเกษตรที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่าน ๆ มา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลยุคไหน ก็จะมองเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นแค่เฉพาะหน้า ฉาบฉวย มากกว่าจะมองถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว และเมื่อใดที่สินค้าเกษตรตกต่ำ ภาครัฐก็เพียงเข้าแทรกแซงราคา ทำให้ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชนทั่วประเทศ เป็นแสนล้านบาท
ดังนั้นรัฐบาลจึงมีโครงการประกันรายได้เกษตรกรขึ้น โดยการผลักดันการดำเนินงาน เน้นการประสานงานในระดับพื้นที่ เพื่อก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด การสร้างความมั่นคงของรายได้ให้กับเกษตรกร โดยเป็นหลักประกันรายได้ขั้นต่ำ ในการประกอบอาชีพ การสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ตลอดจนการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร ทั้งหมดนี้ก็เพื่อการลดงบประมาณในการรับซื้อผลผลิต และการจัดเก็บ ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้รับทั้งหมดนี้ก็จะตกสู่เกษตรกรทั้งสิ้น
ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขต 4 และเขต 7 ยังกล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรในจังหวัดภูเก็ต ทางส่วนราชการตลอดจนประชาชนได้ตอบสนองการดำเนินโครงการเป็นอย่างดี และมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้พื้นที่จังหวัดภูเก็ต มีพื้นที่เกษตรกรรม ที่ใช้ในการปลูกข้าว เพียงแห่งเดียว คือ หมู่ที่ 4 ต. ไม้ขาว อ. ถลาง จ. ภูเก็ต ซึ่งมีเกษตรกรจำนวน 21 ราย รวมเนื้อที่ 128 ไร่ เฉลี่ยปริมาณข้าวเปลือก 600 กก. ต่อไร่ ซึ่งข้าวส่วนใหญ่เกษตรกรจะเก็บไว้ทั้งบริโภคเองและจำหน่าย ในส่วนนี้ก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปจัดทำประชาคมกับเกษตรกรและขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี 25/53 พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์โครงการชี้แจงให้เกษตรกรรับทราบถึงความเป็นมา และที่สำคัญทางองค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาว ได้ให้งบประมาณจำนวน 200,000บาท แก่หมู่บ้าน เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนต่อไป