ดันภูเก็ตเป็นศูนย์กลางขนส่งเชื่อมโยงภาคเหนือ อีสาน

กรมขนส่งทางบกได้รับงบกว่าพันล้านบาท สร้างสถานีขนส่งระดับอำเภอพร้อมปรับปรุงสถานีเดิมให้สวยงาม ขณะที่สถานีแห่งที่ 2 ที่ภูเก็ต สามารถเปิดใช้ได้ปลายปีนี้อย่างแน่นอน พร้อมวางเป้าหมายดันให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการขนส่งเชื่อมกับภาคอีสาน และภาคเหนือ  
นายชัยรัตน์ สงวนชื่อ อธิบดีกรมขนส่งทางบก กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสถานีขนส่งแห่งที่สองของจังหวัดภูเก็ต ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม แลจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการได้ประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อมอบเป็นของขวัญให้แก่ชาวภูเก็ต เนื่องจากสถานีขนส่งจังหวัดภูเก็ตถือเป็นสถานีขนส่งแห่งแรกที่มีการออกแบบให้สวยงาม และเหมาะสมกับความเป็นเมืองท่องเที่ยวของภูเก็ต

“ภายหลังจากที่สถานีขนส่งที่ภูเก็ตก่อสร้างแล้วเสร็จ กรมการขนส่งทางบกยังมีเป้าหมายที่จะทำให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมการ เดินทางกับภาคอื่นๆ โดยจะที่จะเปิดเส้นทางเดินรถระหว่างภูเก็ตกับภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคตะวันออก โดยเฉพาะเส้นทางในภาคอีสานและภาคเหนือ เพื่อรองรับแรงงานจากภาคอีสาน ภาคเหนือ ที่เดินทางมาทำงานที่ภูเก็ต ในช่วงเทศกาลที่เดินทางกลับบ้านไม่ต้องเข้าไปต่อรถที่กรุงเทพฯ เป็นการแก้ปัญหาความหนาแน่นการใช้บริการรถโดยสารจากกรุงเทพฯ ไปทางภาคเหนือและภาคอีสานในช่วงเทศกาลได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกด้วย เพราะประชาชนทั้งจากภาคเหนือและภาคอีสาน สามารถที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวที่ภูเก็ตได้สะดวก ทั้งยังเป็นการเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญๆระหว่างภูเก็ตกับภาคตะวันออก เช่น ชลบุรี พัทยา และระยอง เป็นต้น”นายชัยรัตน์ กล่าว

อธิบดีกรมขนส่งทางบก กล่าวเปิดเผยถึงการพัฒนาสถานีขนส่งทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 1,183 ล้าน บาท เพื่อที่จะก่อสร้างสถานีขนส่งใหม่ในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ที่สถานที่ขนส่งทรุดโทรมและยังไม่มีสถานีขนส่ง เป็นงบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็งระยะที่ 1 ใน ส่วนของภาคใต้ก็มีหลายจังหวัดที่จะก่อสร้างสถานีขนส่งใหม่ เช่น ที่พังงา เกาะสมุย เป็นต้น และในโครงการไทยเข้มแข็งระยะที่สอง กรมขนส่งทางบกได้ยื่นของบประมาณสำหรับก่อสร้างและปรับปรุงสถานีขนส่งเพิ่ม อีก 2,860 ล้านบาท ซึ่งหากได้รับการจัดสรรงบประมาณจะสามารถปรับปรุงและก่อสร้างสถานีขนส่งได้ครอบคลุมในระดับอำเภอที่ยังไม่มีสถานีขนส่งได้อีกมาก

Related Post

ร่วมแสดงความคิดเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.