เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 8 กันยายน 2552 ที่ โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายอุดม พัวสกุล อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธานมอบนโยบายสำคัญ พร้อมทั้งรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ และแนวทางการดำเนินงานของกรมฯ จากผู้เข้าร่วมประชุมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การบริหารทรัพยากรบุคคลแนวใหม่” รุ่นที่ 6 ซึ่งมีโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด หัวหน้ากลุ่มงาน หัวหน้าฝ่าย และเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคล จาก 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน จำนวน 50 คน เข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้การจัดประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับปรุงและจัดทำแบบบรรยายลักษณะงาน และคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งงาน สำหรับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจากภาคใต้ ที่สอดคล้องกับมาตรฐานการกำหนดตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551
อย่างไรก็ดี นายอุดม ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนมอบนโยบายการทำงานให้แก่ข้าราชการในสังกัดว่า การประชุมดังกล่าว เป็นโครงการของกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่จะเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการทำงานของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด รวมถึงการบูรณาการการประสานการทำงานระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อันจะส่งผลให้การทำงานของกรมฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี
“วันนี้ ทางกรมได้เชิญโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด หัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าฝ่าย จังหวัดละ 5 คน มานั่งคุยกันว่าการทำงานที่ผ่านมาของกรมโยธาฯ ในระดับจังหวัดมีอะไรที่เป็นจุดอ่อนเป็นข้อบกพร่องเป็นสิ่งที่เราต้องเติม ให้เต็มซึ่งให้ประสิทธิภาพสูงสุด แต่สิ่งที่อยากได้วันนี้ คือ ข้อสรุป ความบกพร่องหรือจุดอ่อนต่างๆ มีอะไร แล้วเราจะแก้ไขอย่างไร จะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ อันนี้เป็นความมุ่งหมาย ข้อบกพร่องที่ว่า อย่างเช่น ปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่เป็นงานหลักของกรม 3 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน คือ ยุทธศาสตร์แรก ยุทธศาสตร์การผังเมือง ซึ่งจะพูดถึงผังเมืองทั้งหมด ตั้งแต่ผังประเทศ ผังภาค ผัง เมืองรวมจังหวัด ผังเฉพาะ ตลอดจนผังชุมชน ซึ่งเป็นความหมายของผังเมืองทั้งสิ้น ก็มาดูว่าผังเมืองที่ประกาศออกมาแล้ว ทำอย่างไรไม่ให้หมดอายุและมีผลใช้บังคับอย่างไรให้ท้องถิ่นได้นำผังไปสู่การ ปฏิบัติอย่างแท้จริง ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง หมายความคือมีผังเมืองแล้ว ความมุ่งหมายของเราอยากเห็นเมืองน่าอยู่ ทำอย่างไรจะให้มีการพัฒนาดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบน้ำเสีย ระบบขยะ เรื่องระบบเครือข่ายคมนาคม หรือแม้กระทั่งเรื่องสาธารณูปโภค สาธารณูปการทั้งหลายทั้งมวล เพื่อทำให้เป็นเมืองน่าอยู่ ตลอดเป็นการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำหรือเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของกรมโยธาฯ
ส่วนยุทธศาสตร์สุดท้าย คือยุทธศาสตร์การอาคารๆ นี้สำคัญเพราะกรมโยธาฯ ดูแล พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปี 2522 ใน พ.ร.บ.ดังกล่าวจริงอยู่อาจจะมีเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแล อนุญาต อนุมัติ แต่กรมโยธาฯ ก็เปรียบเหมือนเป็นหน่วยซึ่งเป็นพี่เลี้ยง คอยกำกับดูแล ซึ่งในส่วนนี้คงมีปัญหามากอยู่ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามในหนังสือกำชับไปทุกจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพมหานคร ให้สอดส่องดูแลเรื่องอาคารเป็นพิเศษ เฉพาะอย่างยิ่งกรมโยธาฯ ได้แต่งตั้งนายช่าง ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งนายช่างดังกล่าวต้องมีคุณวุฒิทางวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เพื่อช่วยหนุนผู้ว่าราชการจังหวัดในการที่จะไปตรวจสอบ ตรวจตราอาคาร ซึ่งเห็นว่ามีอันตรายหรือไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะอาคาร 9 ประเภท เช่น อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ โรงแรม โรงงาน สถานบริการ เป็นต้น ” นายอุดม กล่าว
นาย อุดม กล่าวถึงการดูแลพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งทางกรมโยธาฯ ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบอาคาร ทางกรมโยธาฯ โดยสำนักตรวจสอบควบคุมอาคาร ได้ส่งนายช่างออกมาสุ่มตรวจอยู่เป็นประจำ ซึ่งก็พบมีการละเมิดบ้างในหลายจังหวัด ทางกรมก็ได้แจ้งให้สำ นังกานท้องถิ่นได้เข้าไปดูแล ส่วนบทลงโทษก็ปรากฏตามกฎหมาย แต่สิ่งที่กรมโยธาฯ ทำในนามของกระทรวงมหาดไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้กำชับเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงนี้ ได้ให้ความสำคัญเรื่องสถานบริการได้ให้มีการตรวจตราเข้มงวด กวดขัน
นอก จากนี้ นายอุดม ยังได้ตอบคำถามในส่วนของผังเมืองรวมของจังหวัดภูเก็ต ด้วยว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเป็นกฎหมาย ซึ่งการเกิดขึ้นของผังเมืองเกิดจากความยินยอมพร้อมใจของผู้มีส่วนได้เสีย เพราะฉะนั้นกว่าจะไปถึงขั้นตอนของกฎหมายของการใช้บังคับได้ ก็ต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการระดับจังหวัดไปแล้ว
“ผังเมืองถ้าประกาศใช้แล้ว เปลี่ยนแปลงได้ หากสถานการณ์เปลี่ยน ความต้องการเปลี่ยน ผังเมืองก็สามารถเปลี่ยนได้ แต่พื้นฐานต้องอยู่บนความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งก็คือพี่น้องประชาชนจังหวัดนั้นๆ เป็นตัวบอก ไม่ใช่กรมโยธาฯ การควบคุมเรื่องผังเมืองจริงอยู่ใช้กระบวนการตามกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงแล้วกระบวนการทางกฎหมายอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องใช้กระบวนการทางสังคมเข้าช่วยด้วย” นายอุดม กล่าวในที่สุด