วัฒนธรรม จ.ภูเก็ต ดึงสื่อร่วมหาทางแก้ปัญหาสื่อไม่เหมาะสมสำหรับเยาวชน

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2552 ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายตรี อัครเดชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาสื่อปลอดภัยและ สร้างสรรค์จังหวัดภูเก็ต ซึ่งสำนักงานวัฒนธรรม ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ตจัดขึ้น มีนายทวิชาติ อินทรฤทธิ์ วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต นางสาวพรรณี สิทธิการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนวิทยากรผู้มีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ จากกลุ่มเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และวิทยากรจากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล  และ ผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งเป็นตัวแทนจากสื่อทุกแขนกในจังหวัดภูเก็ต ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อโฆษณา ตัวแทนจากร้านเกมส์ อินเตอร์เน็ต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในพิธี

ทั้งนี้จากการกล่าวรายงานของ นายทวิชาติฯ วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ทราบว่า ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อสารสนเทศ เปรียบเสมือน “ดาบสองคม” ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการแสดงออกของคนในสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตมาเป็นกำลังหลักของชาติในอนาคต หากแต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงในสถานการณ์ปัจจุบัน คือ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสื่อที่ไม่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน ขณะที่สื่อสร้างสรรค์กลับมีน้อยและไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร และจากปัญหาดังกล่าว ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต จึงได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต จัดอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จ.ภูเก็ต ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ชุมชน องค์กรภาครัฐ เอกชน เข้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสื่อซึ่งอาจไม่เหมาะสมสำหรับประชาชน เด็กและเยาวชน ใน จ.ภูเก็ต และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาสื่อ ปลอดภัยและสร้างสรรค์ จ.ภูเก็ต

นายทวิชาติ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อการอบรมครั้งนี้เสร็จสิ้นลงแล้ว เป็นที่มุ่งหวังว่าผู้ทำหน้าที่สื่อและเครือข่ายทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง จะเข้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสื่อที่อาจจะมีความไม่เหมาะสมสำหรับประชาชน เด็ก และเยาวชนใน จ.ภูเก็ต ในขณะนี้นายตรี อัครเดชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวเสริมในส่วนอิทธิพลของสื่อที่มีต่อสังคมด้วยว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สื่อสารสนเทศ รวมทั้งสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็ก และเยาวชน ไม่ว่าจากสื่อินเทอร์เน็ตที่มีลักษณะเป็นพื้นที่เปิดมากกว่าเนื้อหาที่ตาย ตัว ต่างกับสื่ออื่นๆ ทำให้ยากต่อการดูแล เยาวชนจึงเข้าถึงสื่อลามกทางอินเทอร์เน็ตได้โดยง่าย รวมถึงสื่อที่มาจากวีซีดี และหนังสือ อันนำมาซึ่งความเสียหาย และกระทบต่อชีวติและความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก

“สื่อทุกแขนง เป็นผู้มีบทบาทในการให้ข่าวสาร การให้แสดงความเห็น การให้การศึกษา และการให้ความบันเทิง รวมทั้งเป็นผู้ที่มีส่วนผลักดันและส่งเสริมสนับสนุนในการหาแนวทางและร่วม แก้ไขปัญหาของสื่อที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชน อีกทั้งมีส่วนในการช่วยกันส่งเสริม สนับสนุนให้มีเวทีการแลกเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จ.ภูเก็ต จึงขอขอบคุณสื่อ และเครือข่ยทางวัฒนธรรม รวมถึงสำนักงานวัฒนธรรม สำนักงานพัฒนาสังคมฯ จ.ภูเก็ต ที่ร่วมกันจัดโครงการเพื่อเป็นการสนองต่อนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.ภูเก็ต และร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จ.ภูเก็ต ครั้งนี้”  นายตรีกล่าวในที่สุด

Related Post

ร่วมแสดงความคิดเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.