การฝึกซ้อมระบบการเตือนภัยและอพยพหลบภัยสึนามิเต็มรูปแบบ ในพื้นที่ 6 จังหวัด ชายฝั่งทะเลอันดามัน ประกอบไปด้วยจังหวัดระนอง ตรัง พังงา กระบี่ สตูลและจังหวัดภูเก็ต เริ่มขึ้นในเช้าวันที่ 21 สิงหาคมนี้หลังจากที่เคยเกิดปัญหาธรณีพิบัติภัย คลื่นสึนามิในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 มาแล้ว ปรากฏว่าในครั้งนั้นสร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนัก ท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้จะมีการเปิดสัญญาณหอเตือนภัยทั้ง 79 แห่งในเวลา 10.45น.เพื่อให้ มีการฝึกซ้อมพร้อมกันทุกจังหวัด โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ประธานกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นประธานในการฝึกซ้อมฯ พร้อม กันนี้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดภูเก็ตจะเป็นแม่ข่ายถ่ายทอดสด ไปทั่วประเทศ ส่วนสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดภูเก็ตและทุกจังหวัดบริเวณ ชายฝั่งทะเลอันดามันร่วมรายงานความเคลื่อนไหวของการฝึกซ้อมเช่นเดียวกัน
สำหรับที่จังหวัดภูเก็ตนั้น คณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวง มหาดไทย กำหนดให้คณะทำงานการซ้อมแผนอพยพประชาชนในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งระบบเตือนภัย สาธารณะจัดสถานที่ฝึกซ้อมหลักที่บริเวณ ต้นซอยบางลาถึงซอยแสนสบายที่ถือว่าเป็นจุดปลอดภัย ของหาดป่าตอง อำเภอกะทู้ เป็นระยะทางประมาณ 700 เมตร เนื่อง จากพิจารณาเห็นว่าเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวหนาแน่น มีประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่าง ประเทศเป็นจำนวนมากและบริเวณนี้ เป็นชายหาด ที่มีความยาวมากถึงประมาณ 3 กิโลเมตรเศษจึงมีการติดตั้งหอเตือนภัยถึง 3 แห่ง จากที่มีการติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งหมด 19 แห่งทั่วเกาะภูเก็ต
จากสถิติข้อมูลในปีนี้ มีแผ่นดินไหวจริงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในวันนี้ จึงมีการสมมติสถานการณ์เกิดแผ่นดินไหว แรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ ในบางพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ตและศูนย์เตือนพิบัติภัยแห่งชาติ ยืนยันข้อมูลเมื่อเวลา 10.20น. มีขนาด 8.8 ริกเตอร์ และศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ละติจูด 10.55 องศาเหนือ ลองติจูด 93.5 องศาตะวันออก บริเวณหมู่เกาะอันดามันและมีโอกาสสูงที่จะเกิดคลื่นสึนามิ อาจจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันได้
อย่างไรก็ดี มีการส่งข้อความสั้นผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ครั้งที่ 1 แจ้งแผ่นดินไหว ถึงคณะผู้บริหารศูนย์เตือนพิบัติภัยแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและหน่วย งานที่เกี่ยวข้อง ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในเวลาต่อมามีการส่งโทรสาร เพื่อแจ้งอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าระวัง และเตรียมอพยพประชาชน
การฝึกซ้อมระบบการเตือนภัยและอพยพหลบภัยสึนามิเต็มรูปแบบ ในพื้นที่ 6 จังหวัด ชายฝั่งทะเลอันดามัน ในช่วงที่ผ่านมานั้นหลายฝ่ายอยากให้เป็นการฝึกซ้อมเป็นประจำหลายครั้งต่อปี เพราะเชื่อมั่นว่า เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่กระตุ้นเตือนและส่งเสริมให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถ บริหารจัดการภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ