195 ปี เทศกาลกินเจ ประเพณีถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต

195 ปี เทศกาลกินเจ ประเพณีถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต

เทศกาลกินเจ หรือประเพณีถือศีลกินผัก หรือที่คนภูเก็ตเรียกว่าเจียะฉ่าย นั้นเริ่มครั้งแรกที่อำเภอกะทู้ ในปี พ.ศ. 2368 เริ่มต้นจากคณะงิ้วเร่จากจีน ที่มาเปิดการแสดง แล้วชาวคณะเกิดมีอาการเจ็บไข้ คณะงิ้วจึงได้ประกอบพิธีกินผักขึ้น เพื่อบวงสรวงเทพเจ้า (บางคนก็บอกว่าบนบานเอาไว้) หลังจากนั้นต่างก็หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ตั้งแต่นั้นชาวกะทู้จึงเกิดศรัทธา ประกอบพิธีถือศีลกินผักหรือประเพณีกินเจโดยเริ่มตั้งแต่ วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 รวม 9 วัน 9 คืน เพื่อความ เป็นมงคลแก่ตนเอง

ต่อมามีผู้รู้รับอาสา ไปอัญเชิญเหี่ยวโห้ย หรือ เหี่ยวเอี้ยน (ควันธูป) และเลี่ยนตุ่ย (ป้ายชื่อ) พร้อมทั้งคัมภีร์ต่างๆ ที่ใช้ในพิธีกินผัก ที่มณฑลกังไส ประเทศจีน และได้เดินทางกลับมาถึงใน วันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 9 เมื่อชาวบ้านทราบข่าว จึงได้จัดขบวนไปรับ ที่บ้านบางเหนียว อันเป็นกำเนิดของพิธีรับพระนั่นเอง

ปีนี้ พ.ศ.2563 ถ้านับเวลาตามประวัติที่อ้างอิงมา ถือเป็นการสืบทอดประเพณีกินเจของภูเก็ต มาเป็นระยะเวลา 195 ปีแล้ว และดูเหมือนเหตุการณ์ต่างๆ ก็มีความคล้ายคลึง มีเรื่องโรคระบาด COVID-19 ทำให้ชาวภูเก็ตตลอดทั้งชาวไทยทุกคน ต้องตกอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ในปีนี้จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคน มาร่วมสืบสานประเพณีถือศีลกินผัก หรือเทศกาลกินเจของภูเก็ตกัน เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง จิตใจแจ่มใสมีความสงบเมตตา อันเนื่องมาจากการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ ละเว้นอบายมุขทั้งปวง

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่จะร่วมพิธีกินผัก
1. ผู้ที่อยู่ระหว่างการไว้ทุกข์ ห้ามเข้าร่วมพิธีกินผักโดยเด็ดขาด
2. ผู้ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ กำลังจะคลอดบุตร เข้าร่วมพิธีกินผักได้ แต่ห้ามไปไหว้พระที่ศาลเจ้า หรือไปดูการประกอบพิธีกรรมต่างๆ (น่าจะเกี่ยวกับสภาพจิตใจด้วย)
3. ผู้ที่มีประจำเดือน เข้าร่วมพิธีกินผักได้ แต่จะไปไหว้พระที่ศาลเจ้า ห้ามไปไหว้พระที่ศาลเจ้า หรือไปดูการประกอบพิธีกรรมต่างๆ (ห้ามเข้าไปในศาลเจ้าเลย)
4. ห้ามร่วมประเวณี
5. ห้ามดื่มของมึนเมา
6. ห้ามรับประทานอาหารคาว และ ผักที่มีกลิ่นแรง เช่น หอม กระเทียม หลักเกียว (ผักคล้ายกระเทียมขนาดเล็ก) กุยช่าย (ผักไม้กวาด) ผักชี เครื่องเทศที่เผ็ดร้อน ใบยาสูบ โดยเชื่อว่าผักเหล่านี้ เป็นของคาว ที่เพิ่มความกำหนัด (บ้างก็ว่า มาจากตำนานที่ว่า พืชผักกลุ่มนี้ เกิดมาจากเลือดของสัตว์)
7. ต้องชำระร่างกายให้สะอาด ก่อนเข้าพิธี และรักษาความสะอาด ของร่างกายอยู่เสมอ
8. ต้องประพฤติชอบทั้งกาย วาจา และใจ

นอกจากนี้ บางคนก็ยังเชื่อว่า ห้ามทัก หรือ เรียกชื่อม้าทรง เวลาที่กำลังลงพระ (เทพเจ้าเข้าประทับร่าง) หรือแสดงอิทธิฤทธิ์ ทรมานตัวเองอยู่ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ ม้าทรงเจ็บตัวได้

***สำหรับเทศกาลกินเจของภูเก็ต ปี 2563 นี้ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตแนวใหม่ New Normal ป้องการการติดเชื้อโควิด-19 จังหวัดภูเก็ต ได้ออกนโยบายให้มีการรักษาระยะห่างและใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง

ในการร่วมพิธีกรรมต่างๆ งดเว้นพิธีกรรมเกี่ยวกับการแสดงอิทธิฤทธิ์ของม้าทรง และสำหรับการแห่พระรอบเมือง จะแห่ในรูปแบบของขบวนรถ ไม่มีการเดินแห่พระรอบเมืองในเทศกาลกินเจเหมือนปีก่อนๆ

Related Post

ร่วมแสดงความคิดเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.